วันพฤหัสบดีที่ 31 มกราคม พ.ศ. 2556






HEPHAESTUS - ฮีฟีสทัส      เทพแห่งไฟ ที่เป็นช่างเหล็กให้แก่ทวยเทพ

 
 

เทพฮีฟีทัส เป็นเทพโอลิมเปียนครองการช่าง เป็นบุตรของเทพีฮีรากับเทพซุส ในคราวหนึ่งเทพซุส ประสงค์จะลงโทษเทพีฮีราให้เข็ดหลาบ โดยการเอาโซ่ทองล่ามไว้กับกิ่งฟ้า ห้อยโตงเตง ดังนั้น ฮีฟีสทัสก็เข้าช่วยมารดา พยายามแก้ไขโซ่ เพื่อที่จะให้แม่เป็นอิสระ ซุสบันดาลโทสะ จึงจับฮีฟีสทัส ขว้างลงมาจากสวรรคโลก
 เทพฮีฟีสทัส ตกจากสวรรค์เป็นเวลาถึง 9 วันจึงลงมาถึงมนุษย์โลก ณ เกาะเลมนอส ในทะเลจีน และในการตกครั้งนี้ เทพฮีฟีสทัส จึงเป๋ไปข้างหนึ่งตั้งแต่นั้นมา แต่ทั้งที่ เทพฮีฟีสทัส ต้องพิการเช่นนี้ หมายจะช่วยมารดาแต่ เทพีฮีราก็ไม่แยแสเหลียวแล  เทพฮีฟีสทัส จึงเสียใจเป็นอย่างมาก ความเฉยเมยของมารดา ทำให้เทพฮีฟีสทัส ตั้งปณิธานว่าจะไม่กลับขึ้นไปบนเขาโอลิมปัสอีก จึงสร้างวังประทับอยู่ในเกาะเลมนอส และตั้งโรงหล่อในการประกอบ โลหะนานาชนิด โดยมีพวกยักษ์ไซคลอปส์ (ยักษ์ตาเดียว) เป็นลูกมือ และเทพฮีฟีสทัส ประชดมารดา ด้วยการสร้างบัลลังก์ทองคำเปล่งสะพรั่งพร้อมด้วยลวดลายสลักเสลาอย่างหาที่เปรียบมิได้ขึ้น  เป็นบัลลังก์กลประกอบด้วยลานกลไกซ่อนอยู่ข้างใน ส่งขึ้นไปถวายเจ้าแม่ฮีรา เจ้าแม่ยินดีในรูปลักษณะอันแสนงามของบัลลังก์กล สำคัญกว่าเป็นของที่บุตรถวาย พอขึ้นประทับเครื่องกลไกที่ซ่อนอยู่ก็ดีดกระหวัดรัดมารดา ตรึงติดกับบัลลังก์อย่างมั่นคง จนไม่สามารถแม้แต่จะขยับเขยื้อนองค์ได้ แม้เทพทั้งปวงจะรวม กำลังกันเข้าแก้ไขก็จนปัญญา ไม่มีทางปลดเปลื้องพันธนาการให้หลุดออกไปได้
 เมื่อเหนือกำลังทวยเทพ ดังนั้น เฮอร์มีส เทพผู้สื่อสาร หรือ ลิ้นทูต จึงอาสามาเกลี้ยกล่อม ขอให้ฮีฟีสทัสขึ้นไปช่วยแก้ แต่ ลิ้นทูต ของเฮอร์มีสกลับกลายเป็น "ลิ้นถึก" ซึ่งในกรณีนี้ แม้เฮอร์มีส จะหว่านล้อมด้วยความคมขำไพเราะสักเพียงใด ก็ไม่อาจชักจูงฮีฟีสทัสให้ขึ้นไปบนเขาโอลิมปัสได้
 เหล่าทวยเทพจึงประชุมปรึกษากันอีกวาระหนึ่ง มองไม่เห็นใครนอกจากเทพไดโอนีซุส ที่สามารถช่วยได้ จึงเห็นชอบพร้อมกันส่งไดโอนีซุส ลงมาเกลี้ยกล่อมเทพฮีฟีสทัสด้วย อุบาย คือใช้วิธีมอมเทพฮีฟีสทัสด้วยน้ำองุ่น จนเทพฮีฟีสทัสมึนเมา แล้วไดโอนีซุสก็พาเทพฮีฟีสทัสขึ้นไปแก้เครื่องกลพันธนาการให้เทพีฮีราเป็นอิสระ ไม่เพียงแค่นั้น ไดโอนีซุสยังช่วยไกล่เกลี่ยให้เทพซุส เทพีฮีรา และเทพฮีฟีสทัส เข้าใจกันอีกด้วย
              แต่ทั้งที่ได้รับความยกย่องโปรดปรานเทียมเท่าเทพองค์อื่น ๆ ในคณะเทพโอลิมเปียนแล้วเช่นนั้น ฮีฟีสทัสก็ไม่ยินดีที่จะอยู่บนเขาโอลิมปัสเป็นประจำ จะขึ้นไปก็เฉพาะคราวประชุมเทพสภาและในวาระอื่น ๆ เท่านั้น ในยามปกติเทพฮีฟีทัสคงขลุกอยู่ในโรงหล่อ และหมกมุ่นง่วนกับงานช่างของตัวเองเป็นนิตย์ จะเปรียบเป็น พระเวสสุกรรมของกรีก เพราะการสร้างวังที่ประทับของเทพแต่ละองค์บนเขาโอลิมปัสนั้นเป็นงานเทพฮีฟีสทัส ทั้งสิ้น นอกจากนี้ยังเป็นผู้ออกแบบประกอบเครื่องตกแต่งตำหนักต่าง ๆ ด้วยโลหะประดับมณีแวววาว จับตา และประกอบ สายฟ้า ให้เป็นอาวุธ ถวายแก่ซุส กับศรรักให้อีรอส
 
 
 

วันพฤหัสบดีที่ 24 มกราคม พ.ศ. 2556




CUPID – คิวปิด (โรมัน) หรือ อีรอส (กรีก)
เทพแห่งความรัก เป็นบุตรของ เทพีวีนัส หรือ แอฟโฟรไดตี
 

 
 
          ในตำนานการกำเนิดของคิวปิดส่วนใหญ่ที่ปรากฏบอกไว้ว่า เทพีวีนัส ได้ลักลอบเป็นชู้กับเทพสงครามเอรีส (เนื่องจากฝ่ายหญิงได้สมรสแล้วกับเฮเฟสทัส เทพแห่งการช่าง) แต่เทพีวีนัสไม่พอใจ เพราะสวามีเอาแต่ขลุกอยู่กับงานของตน อีกอย่าง พระนางก็พอใจเทพเอรีสมาแต่แรก แต่ที่ได้แต่งงานกับเทพเฮเฟสทัสเพราะเทพซุส ยกพระนางให้เป็นรางวัลแก่เทพเฮเฟสทัส   จนกระทั่งมีโอรส ให้นามว่า คิวปิด หรือ อีรอส กล่าวกันว่า คิวปิดติดแม่มาก และเชื่อฟังแม่ทุกอย่าง เห็นเทพีวีนัสที่ใดก็ต้องมีโอรสคู่ใจอยู่ด้วยเสมอ แต่เวลาก็ล่วงเลยมานาน กามเทพควรที่จะเติบโตเป็นหนุ่ม แต่กลับไม่ยอมเติบโตขึ้นตามกาลเวลา  เทพีผู้เป็นมารดาหนักใจมากจึงไปปรึกษาเทพีธีมิส เทพีแห่งความยุติธรรม พระนางจึงได้คำตอบว่าที่เป็นเช่นนี้เพราะคิวปิดเหงา ไม่มีเพื่อนเล่น หากคิวปิดมีน้อง กามเทพน้อยก็จะเติบโตเอง ไม่นานจากนั้น เทพีวีนัส ก็มีโอรสอีกองค์กับเทพเอรีส ให้นามว่า แอนตีรอส (เทพแห่งการรักตอบ) คิวปิดจึงเติบโตขึ้นตามเวลา กลายเป็นเทพบุตรรูปงาม หล่อเหลา เป็นที่ประทับใจของสาวๆในหมู่นางฟ้า นางไม้ และนางพราย
            เมื่อเทพอีรอสเติบโตเป็นเทพบุตรรูปงามแล้ว พระองค์ก็มีความรักกับเจ้าหญิงไซคี แต่กลับไม่เป็นที่พอใจของเทพีแอฟโฟรไดเพราะเจ้าหญิงไซคีทรงสิริโฉมงามเป็นที่เล่าลือ พอเทพีแอฟโฟรไดตี อยากรู้ว่าจะงามกว่าพระองค์ไหม พอเห็นกับตา คืองามมากเหมือนดอกไม้ที่ยังตูมและบริสุทธิ์ผุดผ่อง พระองค์มาย้อนดูตัวที่งามจริงแต่ไม่ได้งามอย่างบริสุทธิ์และมีคุณค่า พระองค์จึงคิดกำจัดเจ้าหญิงพระองค์นี้ จึงวานให้เทพอีรอสผู้เป็นพระโอรสไปทำงาน โดยให้ยิงศรรักต้องนางไซคีต้องให้นางรักกับอสูรกาย พื่อให้นางเสื่อมเสียเกียรติ แต่ผลออกมาเทพอีรอสเกิดอึ้งในความงามของเจ้าหญิงไซคีจนบังเอิญเพ้อให้ศรรักถูกตัว เพียงสะกิดก็บังเกิดความรักได้ เทพอีรอสต้องพิษของศรรักเสียแล้ว พระองค์มิได้ทำตามคำสั่งของพระมารดาแต่ยังทำการจนได้เจ้าหญิงไซคีมาเป็นพระชายา โดยให้เจ้าหญิงสัญญาว่าจะไม่เห็นตัวพระองค์ เพราะตัวพระองค์น่าตาอัปลักษณ์น่ารังเกลียด แต่เจ้าหญิงกลับไม่เชื่อจึงแอบจุดเทียนดูตอนเทพอีรอสหลับผลปรากฏว่า เห็นเทพบุตรรูปงาม แต่เจ้ากรรมน้ำตาเทียนหยดลงบนตัวของเทพอีรอส พระองค์ตื่นด้วยความตกใจและเห็นว่า เจ้าหญิงไซคีชายาอันเป็นที่รักผิดสัญญา พระองค์จึงบินหนีไปและไม่กลับมาอีกเลย
 
 
 

HADES – ฮาเดส (กรีก) หรือ พลูโต (โรมัน)

เทพเจ้าผู้ปกครองนรกและโลกหลังความตาย

 

          ในตำนานถือว่ามีศักดิ์เป็นพี่ชายของ ซุส ราชาแห่งเหล่าเทพ และยังถือได้ว่าเป็นเจ้าแห่งทรัพย์  เพราะเทพฮาเดส มีสิทธิ์ในทรัพย์สินทุกอย่างภายใต้พื้นพิภพ จึงมีชื่อเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า ดีส (Dis) ซึ่งแปลตรงตัวว่า ทรัพย์สิน

           ฮาเดส แท้ที่จริงแล้วเป็นเทพที่มีความยิ่งใหญ่อีกองค์หนึ่งเช่นเดียวกับซุส หรือ โพไซดอน เนื่องจากเป็นพี่น้องกัน แต่ทว่าความที่ฮาเดสเป็นผู้ปกครองนรก ซึ่งเป็นโลกใต้ดิน ซึ่งมีแต่ความมืดมิดและน่ากลัว จึงไม่อยากขึ้นไปยังเขาโอลิมปัส อีกทั้งเทพองค์อื่น ๆ ก็ไม่จะต้อนรับฮาเดส ด้วย ดังนั้น ฮาเดสจึงไม่มีชื่อเป็นหนึ่งในเทพโอลิมปัส เฉกเช่นองค์อื่น ๆ

           ฮาเดส ได้ชื่อว่าเป็นเทพที่มีความเที่ยงธรรมอย่างมาก ตัดสินความดีชอบของคนตายโดยปราศจากอคติใด ๆ ทั้งสิ้น กล่าวกันว่า พระองค์มีหมวกวิเศษอยู่ใบหนึ่งที่สามารถทำให้ผู้สวมหายตัวได้ ซึ่งในครั้งที่ทำสงครามกับเหล่าไททันนั้น ฮาเดสใช้หมวกนี้ลอบเข้าไปทำลายอาวุธของไททันก่อนการต่อสู้ และพระองค์มีเทพผู้ช่วยในการตัดสินความดีชั่วในยมโลกอีก 3 องค์คือ ราดาแมนทีส ไมนอส ไออาคอส ที่เรียกว่า สามเทพสุภา และยังมีฮิปนอส เทพแห่งการหลับใหล และ ทานาทอส เทพแห่งความตายคอยช่วยอีก

           ฮาเดส มีชายาองค์หนึ่งชื่อ เพอร์ซิโฟเน เป็นเทพแห่งฤดูใบไม้ผลิ ซึ่งเป็นพระธิดาองค์เดียวของ ดีมิเทอร์ เทพีแห่งความอุดมสมบูรณ์และการเกษตร จากความงดงามของนางเพอร์ซิโฟเน ทำให้ฮาเดส ลืมไปว่า แท้ที่จริงแล้ว นางคือหลานสาวแท้ ๆ ของตน เพราะว่า ดีมิเทอร์มีศักดิ์เป็นน้องสาวของพระองค์เอง เมื่อฮาเดส ได้ฉุดนางไปเป็นเทพีแห่งนรกคู่กัน ทำให้เกิดเป็นกรณีพิพาทขึ้นระหว่างทวยเทพแห่งโอลิมปัส ซุสซึ่งเป็นองค์ประธานได้ตัดสินให้ฮาเดสต้องคืนเพอร์ซิโฟเนแก่ดิมิเทอร์ ฮาเดส จึงใช้อุบายทำให้เพอร์ซิโฟเน สามารถกลับมาออกมาจากนรกได้เพียงแค่ปีละ 3 เดือน และเหตุนี้จึงเป็นเหตุที่ทำให้ฤดูใบไม้ผลิเกิดขึ้นเพียง 3 เดือนเท่านั้น

          ชาวกรีกโบราณจะถวายการสักการะแด่ฮาเดส ด้วยแกะดำ และเป็นพิธีกรรมที่เร้นลับ หากจะบูชาเทพแห่งความตายหรือเทพอันใดที่เป็นสัญลักษณ์ของความน่ากลัวหรือชั่วร้าย ต้องบูชายัญด้วยแพะหรือแกะดำ

 

วันศุกร์ที่ 18 มกราคม พ.ศ. 2556





BACCHUS – แบกคัส หรือ ไดโอไนซัส เทพแห่งไวน์ ความอุดมสมบูรณ์และความสนุกสนาน


 


          
เทพแบกคัส เป็นบุตรของเทพซุสกับนางซิมิลี่ ซึ่งเป็นมนุษย์ ธิดาแห่งกรุงเธป เทพซุสได้แปลงกายเป็น มนุษย์รูปงามลงมาโลกมนุษย์ เพราะเกรงว่ามเหสี พระนางเฮร่า จะรู้เข้า และกลัวว่านางซิมิลี่จะเกรงกลัวในรัศมีของพระองค์ และในที่สุด ก็ได้นางเป็นชายาอีกองค์ แต่แล้ว พระนางเฮร่า ก็รู้เข้า จึงได้แปลงกายมาเป็นคนรับใช้ของนางซิมิลี่ มาหลอกล่อให้นางอยากเห็นรูปร่างที่แท้จริงของเทพซุส
 นางซิมิลี่ จึงได้ให้เทพซุสในรูปมนุษย์ ไปสาบานกับแม่น้ำสติ๊กซ์ ว่าจะให้ของขวัญแก่นาง แล้วนางซิมิลี่ ก็ให้เทพซุสเปลี่ยนร่างที่แท้จริงออกมา พระองค์เกรงว่า ถ้าให้นางเห็นร่างที่แท้จริงของพระองค์ จะทำให้นางซิมิลี่มอดไหม้ เพราะ รัศมีของพระองค์ จึงบอกแก่นางซิมิลี่ว่า จะดูแลลูกในครรภ์ของนาง ส่วนนางก็จะได้รับของขวัญสมใจ แล้วพระองค์ก็ได้ เปลี่ยนร่างเป็นเทพซุส นางซิมิลี่ก็มอดไหม้ไป แต่บุตรของนางไม่เป็นอะไรเพราะ เป็นบุตรแห่งเทพ จากนั้น เทพซุส จึงได้ให้พวกนิมฟ์ล นางไม้ ดูแลเทพแบกคัส พวกนิมฟ์ล ได้สอนให้เทพแบกคัส ปลูกพืชต่างๆ โดยเฉพาะองุ่น ต่อมาพระองค์ได้ทดลองนำองุ่นไปหมักเอาไว้ และก็ได้ค้นพบ น้ำองุ่นที่รสชาติดีอย่างประหลาด ยิ่งดื่ม ยิ่งมึนเมา ยิ่งอยากดื่ม ยิ่งสนุกสนาน พระองค์จึงได้เผยแพร่การทำไวน์องุ่นไปทั่วแดน และต่อมา เทพซุส ได้รับพระองค์ไปเป็นเทพโอลิมปัสอีกพระองค์
 
เทพแบกคัส ยังเป็นเทพของการเกษตรกรรม และการละคร นอกจากนั้นก็ยังรู้จักกันในนามว่า ผู้ปลดปล่อย ที่ปลดปล่อยส่วนลึกของตนเองโดยทำให้คลั่ง หรือให้มีความสุขอย่างล้นเหลือ หรือด้วยเหล้าองุ่นหน้าที่ของแบกคัส คือเป็นผู้สร้างดนตรีออโลส และยุติความกังวล






CERES – ซีรีส (โรมัน) หรือ ดิมิเทอร์ (กรีก) เทพีแห่งการเกษตร
 
เป็นพระชายาพระองค์หนึ่งของเทพซุส
 
   เทพีดีมิเทอร์มีธิดาองค์หนึ่งทรงนามว่า  โพรสเสอพิน  หรือ เพอร์เซโฟนี เป็นเทวีครองฤดูผลิตผลของพืชทั้งปวง เทพีองค์นี้ถูกฮาเดสลักพาตัวไปเป็นคู่ครองในยมโลก
  เมื่อเทพีดีมิเทอร์กลับมาจากทุ่งข้าวโพดไม่เห็นธิดา  เที่ยวเรียกหาแต่ก็ไม่พบก็ เทพีไม่ได้ห่วงถึงภาระหน้าที่ประจำ ที่เคยปฏิบัติ  ดอกไม้ทั้งปวง  จึงเหี่ยวเฉาเพราะขาดฝน  พืชพันธุ์ธัญญาหารถูกแดดแผดเผา ในที่สุดเจ้าแม่ก็สิ้นหวังทีจะตามหาธิดาของพระองค์ แต่เพื่อไม่ให้ผู้ใดรู้จัก เทพีดีมิเตอร์ได้จำแลงองค์เป็นยายแก่  ในขณะที่นั่งพักอยู่นั้น  พวกธิดาของเจ้านครอีลูสิส เห็นยายแก่มานั่งคร่ำครวญคิดถึงลูก เกิดความสงสาร และเพื่อที่จะให้ยายหายโศกเสร้า นางจึงชวน ยายแก่เข้าไปในวังให้ดูแลกุมาร ทริปโทลีมัส ผู้เป็นน้อง ซึ่งยังเป็นทารกแบเบาะอยู่
เมื่อเทพีดีมิเทอร์ ได้อุ้มทารก  ทารกก็เปล่งปลั่งมีนวลขึ้นเป็นที่อัศจรรย์แก่เจ้านครและ  บริวารยิ่ง  แล้วไม่นานนัก เทพีดีมิเทอร์ก็ออกจากเมืองนี้เที่ยวหาธิดาต่อไป
วันหนึ่งในขณะที่เทพีดีมิเทอร์พักเลียบฝั่งแม่น้ำอยู่นั้น นางได้พบวัตถุแวววาว สิ่งหนึ่งอยู่แทบบาท  นางจำได้ทันทีว่าเป็น สายรัดขององค์ที่เพอร์เซโฟนีทิ้งฝากนางอัปสรแห่งแม่น้ำไซเอนีไว้  เมื่อตอนรถของฮาเดสจะลงสู่บาดาล    เมื่อได้รู้ถึงที่อยู่ของธิดาแล้ว เทพีดีมิเทอร์จึงรีบไปอ้อนวอนเทพซุสให้ช่วย  แต่เทพซุสมีเงื่อนไขว่า  ถ้าเพอร์เซโฟนีไม่ได้เสวยสิ่งใดในระหว่างที่อยู่บาดาล จะให้ฮาเดสส่งเพอร์เซโฟนีขึ้นมาอยู่กับมารดา  แล้วมีเทวบัญชาให้เฮอร์มีสลงไปสื่อสารแก่ฮาเดสในยมโลก  ฮาเดสจึงต้องส่งเพอร์เซโฟนีให้แก่เทพีดีมิเทอร์  แต่ในขณะนั้นภูตครองความมืดเรียกว่า แอสกัลลาฟัส  ร้องประกาศขึ้นว่า ราชินีแห่งยมโลกได้เสวยเมล็ดทับทิมแล้ว 6 เมล็ด  ในที่สุดจึงตกลงกันเป็นยุติว่า ในปีหนึ่ง ๆ ให้เพอร์เซโฟนีเทวีอยู่กับฮาเดสใน ยมโลก 6 เดือน แล้วให้กลับขึ้นมาอยู่กับมารดาบนพิภพอีก 6 เดือน สลับกันอยู่ทุกปีไป  ด้วยเหตุนี้เมื่อเพอร์เซโฟนีเทวีอยู่กับมารดา  โลกจึงอยู่ในระยะกาลของฤดูใบไม้ผลิ  พืชพันธุ์ธัญญาหารนานาชนิดผลิดอก  ออกผล  และเมื่อเพอร์เซโฟนีเทวีลงไปอยู่ในบาดาล  โลกก็ตกอยู่ในระยะกาลของฤดูหนาว พืชผลทั้งปวงซบเซา  อันเป็นความเชื่อของชาวกรีกและโรมัน 
  และเมื่อเจ้าแม่ดีมิเทอร์พบธิดาแล้ว ก็กลับไปยังเมืองอีลูสิส อีกครั้ง  เพื่อให้มนุษย์นั้น รู้จักการทำไร่ ไถนา และเทพีดีมิเทอร์ได้สอนทริปโทลีมัส ซึ่งเติบโตเป็นผู้ใหญ่แล้ว  ให้รู้จักใช้ไถ จอบ และเคียว สั่งสอนชาวนาสืบ ๆ กันมาจนตราบเท่าบัดนี้

 
 
 


วันพฤหัสบดีที่ 17 มกราคม พ.ศ. 2556


ATHENA – อธีนา หรือ มิเนอร์วา เป็นเทพีแห่งสงคราม ความเป็นปราชญ์และศิลปะ

 

 

          
เทพีอธีนา เป็นหนึ่งในสิบสองเทพแห่งโอลิมปัส เป็นเทพีแห่งปัญญา เนื่องจากเกิดมาจากส่วนหัวของ ซุส ประมุขแห่งเหล่าทวยเทพ ในขณะที่กำลังประชุมเหล่าเทพที่เทือกเขาโอลิมปัส เมื่อจู่ ๆ ซุสเกิดปวดศีรษะอย่างรุนแรง จึงได้ให้เฮเฟสตัส เทพแห่งการตีเหล็กใช้ขวานผ่าศีรษะออก ปรากฏเป็นอธีนาที่สวมชุดเกราะพร้อมหอกกระโดดออกมา เทพีอธีนาเป็นธิดาของเทพีเมทิส ซึ่งถูกซุสกลืนเข้าไปในท้องตั้งแต่ยังมีครรภ์แก่ เนื่องจากคำทำนายที่ว่าบุตรที่เกิดจากนางจะเป็นผู้โค่นบัลลังก์ของซุส แต่แม้ว่าอธีนาจะถือกำเนิดมาพร้อมกับคำทำนายนั้น พระนางก็เป็นหนึ่งในลูกรักของซุส ว่ากันว่าฮีราอิจฉาอธีนาที่ถือตัวว่าเป็นผู้กำเนิดมาจากซุสโดยตรง
และนอกจากอธีนาจะเป็นเทพีแห่งปัญญาแล้ว ยังเชื่อกันว่าพระนางเป็นเทพีแห่งสงครามด้วย เนื่องจากเทวรูปของพระนางมักปรากฏเป็นรูปผู้หญิงสวมชุดเกราะ ถือโล่และหอกที่มือซ้าย และถือไนกี้ เทพีแห่งชัยชนะที่มือขวา โดยที่ชื่อกรุงเอเธนส์ เมืองหลวงของกรีซ ก็มีที่มาจากพระนามของนาง ชื่อเต็มของอธีนาคือ พัลลัสอธีนา (Pallas Athena) ซึ่งชื่อพัลลัส มาจากเพื่อนมนุษย์ของอธีนาซึ่งเธอพลั้งมือสังหารไปขณะเล่นด้วยกัน จึงได้นำชื่อของพัลลัสมาใส่นำหน้าเพื่อเป็นที่ระลึก อธีนาเป็นตัวแทนของสงครามที่เอาชนะด้วยกลยุทธ์หรือความถูกต้อง ซึ่งต่างจากแอรีสที่เป็นเทพสงครามที่ใช้กำลังมากกว่า
นอกจากนี้ อธีนา ยังเป็นหนึ่งในสามเทพีพรหมจรรย์ด้วย ซึ่งประกอบด้วย พระนาง, อาร์เทมีส เทพีแห่งดวงจันทร์ และเฮสเทีย เทพีแห่งครัวเรือน
เทพีอธีนา มีวิหารพาร์เธนอนเป็นวิหารที่สร้างขึ้นเพื่อบูชา
 
 
 
ATLAS - แอตลาส  หนึ่งในเหล่าไททันที่ก่อกบฏในสงครามไททัน
 
 
เทพแอตลาส เป็นเทพผสมระหว่างเทพและยักษ์อสูร เป็นโอรสของ เทพไออาพิทัส เทพแห่งสงคราม กับ คลิมีน เทพธิดาแห่งมหาสมุทร ในสายวงศ์ตระกูลยักษ์อสุรา ไททัน
            ตระกูลไททัน เป็นตระกูลยักษ์อสูรสาแหรกที่ เก่าแก่ที่สุด เป็นลูกหลาน ของ เทพอูรานัส ผู้ปกครองแผ่นดินสวรรค์โอลิมปัส กับ นางจีอา เทพีแห่งพื้นพิภพ
 ในยุคต่อมา เมื่ออารยธรรมกรีกในภาค มนุษย์ แปรเปลี่ยน แกนอำนาจของผู้ปกครอง ตำนานเทพปกรณัม ของเหล่าเทพเจ้า ก็ได้เกิดการสร้างเรื่องขึ้นมาใหม่ เล่าผ่านเป็นเรื่องราวของ มหาสงคราม ระหว่างเทพเจ้าครั้งใหญ่
เมื่อเทพเจ้า โครโนส โอรสเทพอูเรนัส สายตระกูลไททันอสูรได้สังหารพระบิดา และขึ้นปกครองสรวงสวรรค์โอลิมปัส เหล่าเทพอสูรไททันได้ปกครองสวรรค์ในยุคแรกๆ  ต่อมาได้เกิด มหาสงคราม ระหว่างเทพซุส โอรสของโครโนส กับเหล่าเทพไททัน ที่มี เทพบิดา โครโนส เป็นผู้นำ  ในมหาสงคราม เทพแอตลาส ผู้เป็นหลานเทพบิดาโครโนส ลูกครึ่งยักษ์อสูร เป็นจอมทัพคุมไพร่พลไททันเข้าต่อกรกับเหล่าเทพซุส
มหาสงครามแห่งเทพ ผู้ครองฟ้า กินเวลายาวนาน มีการทำลายล้างอย่างรุนแรง สร้างความเสียหายไปทั่วทุกที่ จนในที่สุด ฝ่ายเทพซุสก็สามารถเอาชนะพระเทพบิดา โครโนส ได้เป็นผลสำเร็จ และเมื่อฝ่าย อสูรไททัน เป็นฝ่ายปราชัย เทพซุสในฐานะผู้ชนะ ก็ได้ลงโทษบรรดาเหล่าเทพเจ้าผู้แพ้ด้วยการทรมานให้ได้รับทุกขเวทนาในขุมนรก ตรุทาร์ทะรัส  และด้วยเทพ แอตลาส ผู้เป็นขุนทัพฝ่ายไททัน จึงต้องโทษทัณฑ์ที่หนักหนากว่าผู้อื่น โดยจะต้องมาทำหน้าที่ แบกสวรรค์ไว้บนบ่าตลอดกาล


วันศุกร์ที่ 11 มกราคม พ.ศ. 2556


         APOLLO - อพอลโล  เทพแห่งดวงอาทิตย์ การดนตรี พยากรณ์ และการแพทย์




  






เป็นบุตรชายคนโตของมหาเทพซุส เป็นหนึ่งใน 12 เทพแห่งโอลิมปัส เป็นบุตรของซุส จอมเทพแห่งสวรรค์และนางเลโต เป็นเทพแห่งแสงสว่าง หรือเทพแห่งดวงอาทิตย์ รวมถึงเป็นเทพแห่งสัจจะและการดนตรีด้วย อพอลโลมีน้องสาวฝาแฝดชื่อ อาร์เทมีส หรือ ไดอาน่า (ในโรมัน) ซึ่งเป็นเทพีแห่งดวงจันทร์คู่กัน อพอลโล เป็นบุรุษหนุ่มรูปงาม มักเล่นดนตรีด้วยพิณ เชี่ยวชาญการใช้ธนู  ในสงครามกรุงทรอย อพอลโล มีบทบาทเป็นเทพที่รักษาชายฝั่งเมืองทรอย ที่เมืองเดลฟี่ มีเทวสถานบูชาอพอลโลอยู่
           นอกจากนี้แล้ว อพอลโล ยังมีชื่อเรียกอื่น ๆ อีก เช่น ฟีบัส   อาเบล  ไพธูส  หรือ เฮลิออส  ซึ่งแต่ละชื่อมีความหมายถึง แสงสว่างทั้งสิ้น
           ปัจจุบัน อพอลโล เป็นชื่อที่ถูกตั้งตามอยู่บ่อยครั้ง โดยมีความหมายในทางที่เกี่ยวกับแสงสว่างหรือความสำเร็จ เช่น เป็นชื่อปฏิบัติการทางอวกาศของนาซ่าที่เรียกว่า โครงการ อพอลโล หรือเป็นชื่อสินค้าต่างๆ เช่น ยี่ห้อน้ำมันเครื่อง  ยี่ห้อหรือชื่อรุ่นรถยนต์  ชื่อบริษัท เป็นต้น
         อพอลโลเป็นเทพที่ถูกปั้นด้วยทองแดงยืนคร่อมอ่าวทะเลอีเจียน ที่เกาะโรดส์ ที่มีชื่อว่า เทวรูปโคโลสซุส นับเป็นหนึ่งในเจ็ดสิ่งมหัศจรรย์โลกยุคโบราณด้วย โดยทั่วไปรูปปั้นอพอลโลจะถือเครื่องดนตรีคล้ายพิณ และมีลูกบอลทองคำที่เป็นสัญลักษณ์ของดวงอาทิตย์




         
 




         ARTEMIS - อาร์เทมิส หรือ ไดอาน่า  เทพีแห่งดวงจันทร์ เป็นเทพีพรหมจารีแห่งการล่าสัตว์และความสมบูรณ์

                            

 
         
 
     




เป็นธิดาฝาแฝดของเทพซุสกับนางอัปสร ลีโต  หรือ แลโตนา มีพี่ชายร่วมอุทรคือ เทพอพอลโล  เทพีอาร์เทมีสมีชีวิตโลดโผนกว่าเทพีองค์อื่น เพราะทรงโปรดการล่าสัตว์และชอบชีวิตโสด จนเทพซุสประทานนางอัปสร ผู้ไม่ต้องการแต่งงานจำนวน 50 ให้เป็นบริวาร สาเหตุที่พระนางไม่ต้องการมีความรัก ก็เพราะมีความหลังฝังใจจากที่นางลีโต ต้องทรมานกับการคลอดบุตร และในเวลาที่ประสูติเทพีอาร์เทมีสก็ซึมซับความรู้สึกนั้นได้ พระนางจึงไม่เชื่อในความรักและไม่ต้องการคู่ครอง เทพีอาร์เทมีสวิงวอนให้เทพซุส สาบานว่าจะไม่จับคู่สมรสให้พระนางหรือให้พระนางสมรสไม่ว่ากรณีใด และให้พระนางเป็นเทพีผู้ครองพรหมจรรย์ ซึ่งเทพซุสก็สาบานโดยให้แม่น้ำสติกซ์ซึ่งไหลรอบนรกเป็นพยาน (การสาบานต่อแม่น้ำสติกซ์มีความศักดิ์สิทธิ์มาก ผู้ใดผิดคำสาบาน ไม่ว่ามนุษย์หรือเทพเจ้าจะประสบเคราะห์กรรมอย่างร้ายแรง)
     เทพีอาร์เทมิสยังเป็นจันทราเทพี เทพีผู้ครองช่วงเวลาแห่งราตรีกาลและเทพีผู้ประทานแสงสว่างแก่รัตติกาลอีกด้วย แต่พระเทพียังมีความสามารถที่ดูจะออกแนวบู๊ๆคือ การล่าสัตว์ พระเทพีโปรดการล่าสัตว์ พระองค์จะมีคันธนูและลูกศรติดตัวเสมอ แต่พระองค์ถูกนับถือในนาม เทพีผู้คุ้มครองสัตว์ป่าเสียมากกว่า หากใครเข้าไปในเขตป่าของพระองค์โดยยิงหรือจับสัตว์ีป่าที่อยู่้ในอาณาเขตของพระองค์ หากพระเทพีทราบเข้าผู้นั้นอาจต้องถูกสังหารถึงฆาตด้วยลูกธนูแห่งเทพีอาร์เทมิส      
      เทพีอาร์เทมิสยังทรงเป็นเทพีผู้ถือพรหมจรรย์ เจริญรอยตาม เทพีเฮสเทียและเทพีอธีน่า ด้วยเหตุเพราะพระองค์ ทรงเห็นความทุกข์ของเทพีแลโตนา ผู้เป็นมารดาที่ต้องลำบากลำบนกับความรักที่มาเป็นพระชายาเทพซุสที่ถูกเทพีเฮร่าตามราวี จึงทำให้พระเทพีมิโปรดและกลัวที่จะออกเรือน จึงปฏิญาณว่าจะไม่ขอมีครอบครัวและจะรักษาพรหมจรรย์ไว้ให้ยิ่งชีพ แต่ก็ยังมีตำนานบางตอนที่กล่าวถึงพระเทพีหลงรักกับบุรุษรูปงาม 2 คน คือ ไอโอออน  กับ เอนดิเมียน แต่ก็มักจะจบไม่ดีทุกครั้ง  ความรักของเทพช่างน่าสงสารจริงๆ มักเป็นรักที่จะไม่ค่อยสมหวัง

 

วันพฤหัสบดีที่ 10 มกราคม พ.ศ. 2556



               เทพ เทพี ของชาวกรีกโรมัน
 
 

            สวัสดค่ะ วันนี้นะคะ มีเรื่องเกี่ยวกับเทพ เทพีของชาวกรีกโรมันมาฝากค่ะ เป็นผลมาจากการอ่านหนังสือ ดูหนัง เรื่อง Percy Jackson  เลยสนใจค่ะ ยังไงก็ฝากติดตามด้วยนะคะ

    Adonis - อาโดนิส   เป็นหนุ่มรูปงามที่เทพีแอฟโฟรไดตีหรือวีนัสรัก

              ชายหนุ่มรูปงาม ซึ่งเป็นต้นกำเนิดของดอกกุหลาบ เล่ามาว่า ครั้งหนึ่งในป่าใหญ่ ขณะเทพีวีนัสกำลังประพาสป่า เกิดพบต้นไม้ใหญ่งดงามต้นหนึ่งหักโค่นลง และภายในมีเด็กชายหน้าตาน่ารักอยู่ พระนางจึงรับเด็กชายไว้และตั้งชื่อเขาว่า อาโดนิส พระนางฝากเทพีเพอร์เซโฟนี่ มเหสีแห่งเทพฮาเดสดูแล จนกระทั่งเวลาล่วงเลยผ่านมา เทพีวีนัสบังเอิญถูกศรรักของโอรสสะกิดจนเป็นแผลเล็ก และเวลาประจวบเหมาะกับที่อาโดนิสเมื่อโตเป็นหนุ่มแล้วมาปรากฏตรงหน้าพระนาง ทำให้เทพีวีนัสหลงรักอาโดนิสปักใจ และขออาโดนิสคืนจากเทพีเพอร์เซโฟนี่ แต่องค์เทพีไม่ยินยอมด้วยความผูกพันที่มีต่อชายหนุ่ม ทั้งสองเทพีจึงเกิดเบาะแว้งกันใหญ่โต เทพซุสจึงตัดสินให้อาโดนิสสามารถอยู่กับเทพีวีนัสสี่เดือนบนโลกมนุษย์ อยู่อีกสี่เดือนในยมโลกกับเทพีเพอร์เซโฟนี่ และอีกสี่เดือน อาโดนิสจะอยู่ที่ไหนก็ได้ตามใจ (บางตำราก็ว่า แบ่งระหว่างสองเทพีองค์ละ 6 เดือน) แต่เทพฮาเดส หึงหวงชายา(ลับ)ของตนมาก จึงแปลงเป็นหมูป่าที่อาโดนิสชอบล่าลวงเขาเข้าป่าไปและฆ่าทิ้ง เทพีวีนัสเสียใจมากที่พบแต่ศพของชายคนรัก พระนางจึงเนรมิตดอกไม้งามขึ้นมาจากเลือดของอาโดนิส ซึ่งเป็นดอกไม้สัญลักษณ์แห่งความรัก ดอกกุหลาบนั่นเอง
 
    
 
 
 
 

    APHRODITE - แอฟโฟรไดตี หรือ วีนัส เทพีแห่งความรักและความงาม

 
                พระนางเป็นชายาของเทพวัลคัน หรือ เฮฟเฟสตุส เทพแห่งงานช่าง เทพีวีนัสตามตำราว่าเกิดขึ้นเองจากฟองทะเล ด้วยพระนามของพระนาง อะโฟรไดท์ นั้น มาจากคำว่า 'Aphros' ที่แปลว่าฟอง ซึ่งมีตำนานว่าพระนางเกิดในทะเลใกล้เกาะไซเธอรา และถูกคลื่นซัดไปยังเกาะไซปรัส แต่บางตำราว่าเป็นธิดาของเทพซุสที่เกิดจากจากนางอัปสรไดโอนี แต่ที่ตรงกันคือพระนางมีความงดงามที่ไม่มีใครเทียมได้แม้กระทั่งเทพธิดาด้วยกัน และสามารถสะกดใจผู้ชายทุกคนได้ภายในพริบตาแรกที่มองเห็นพระนาง อีกทั้งพระนางก็ชอบใจในความสวยงามของตนเองมากเสียด้วย พระนางจึงไม่ยอมเด็ดขาดหากใครจะกล้าล้ำเส้นเทพีความงามของพระนาง  ด้วยแรงริษยาที่รุนแรงพอๆกับรูปโฉมสะสวยทำให้เทพีวีนัสเป็นที่หวาดหวั่นของเทพหลายๆองค์
               ในวันแรกที่เทพีวีนัสปรากฏตัวบนเขาโอลิมปัส เทพชายทุกองค์โดยเฉพาะเทพซุสเองก็อยากได้พระนางมาครอบครอง แต่เทพีวีนัสไม่ใช่หญิงสาวเรียบร้อยหัวอ่อนว่าง่าย ทำให้เทพซุสเกิดความโมโหและแก้เผ็ดพระนาง โดยจับพระนางแต่งงานกับเทพวัลคัน พระโอรสของพระองค์ ซึ่งเทพวัลคันชอบขลุกอยู่แต่ในโรงงาน ก่อสร้าง และประดิษฐ์สิ่งต่างๆเนื้อตัวมอมแมม แถมยังเป็นเทพขาเป๋ ทำให้เทพีวีนัสโกรธเคืองอย่างมาก แต่พระนางก็กล้าทำในสิ่งที่เทพีอื่นๆ ไม่กล้า นั่นคือการคบชู้สู่ชายแบบตามใจชอบ